สรุปองค์ความรู้จากหนังสือ "การพัฒนาหลักสูตร"





                 การสรุปองค์ความรู้จากหนังสือ “การพัฒนาหลักสูตร”

     การสรุปองค์ความรู้จากหนังสือ “การพัฒนาหลักสูตร” ผู้เขียนได้เลือกหนังสือจำนวน ๓ เล่ม คือ
๑.     การพัฒนาหลักสูตร : ทฤษฎีและการปฏิบัติ (รศ.ดร.สุเทพ อ่วมเจริญ, 2554)
๒.     การพัฒนาหลักสูตรระดับอุดมศึกษา (รศ.ดร.วิชัย วงษ์ใหญ่, 2554)
๓.     Basic Principle of Curriculum and Instruction (Ralph.W.Tyler, 1949)

      จากการสรุปจากหนังสือทั้ง ๓ เล่ม พบว่า นักการศึกษาได้ออกแบบกระบวนการพัฒนาหลักสูตรไว้ ดังนี้

๑.     กระบวนการพัฒนาหลักสูตร SU Model
การพัฒนาหลักสูตร SU Model เป็นการนำแนวความคิดของนักพัฒนาหลักสูตรทั้งในประเทศและต่างประเทศมารวมกับผลการศึกษาวิจัย และได้สรุปเป็นมโนทัศน์เป็นแบบจำลองการพัฒนาหลักสูตร SU Model ได้ดังนี้ (สุเทพ อ่วมเจริญ, 2554, หน้า 26-31)


แผนภาพ 1  แบบจำลองกระบวนการพัฒนาหลักสูตร SU Model
ที่มา : สุเทพ อ่วมเจริญ. (๒๕๕๔). การพัฒนาหลักสูตร : ทฤษฎีและการนำไปใช้
              นครปฐม: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์.

ขั้นตอนของกระบวนการพัฒนาหลักสูตร SU Model
กระบวนการพัฒนาหลักสูตรจะประกอบด้วยขั้นตอนในการจัดทำหลักสูตร ๔ ขั้นตอน ดังนี้
๑.     การวางแผนหลักสูตร (Curriculum Planning) เป็นการวางแผนข้อมูลเพื่อศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตรทั้ง ๓ ด้าน คือ ด้านปรัชญา ด้านจิตวิทยา และด้านสังคม ในขั้นนี้จะช่วยเพิ่มข้อมูลด้านนักเรียน สาขาวิชา และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
๒.    การออกแบบหลักสูตร (Curriculum Design) เป็นขั้นตอนนำเป้าหมายหรือจุดมุ่งหมายของหลักสูตรมาจัดทำกรอบปฏิบัติ การออกแบบหลักสูตรก็เพื่อให้การจัดกิจกรรมหรือประสบการณ์ที่ตอบสนองจุดหมาย (aim) และจุดมุ่งหมาย (goal) ของหลักสูตร
๓.     การจัดทำหลักสูตร (Curriculum Organize) เป็นขั้นตอนการจัดระบบการบริการที่สนับสนุนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีประสิทธิผลมีประสิทธิภาพ เพื่อให้นักเรียนได้จัดระเบียบชีวิตและองค์ความรู้เกิดความรู้ของตนเองและบรรลุวัตถุประสงค์พร้อมกัน สามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในชีวิตในการอยู่ในสังคม
๔.     การประเมินหลักสูตร (Curriculum Evaluation) เป็นการประเมินทั้งหลักสูตรและผลการเรียนรู้ตามหลักสูตร เพราะว่าการประเมินผลการเรียน ความรู้และการจัดการเรียนการสอนจะทำให้นักเรียนได้ความรู้ที่สามารถนำไปใช้ในสังคมได้
กล่าวโดยสรุป กระบวนการพัฒนาหลักสูตร SU Model มีขั้นตอน ๔ ขั้นตอน คือ ๑) การวางแผนหลักสูตร ๒) การออกแบบหลักสูตร ๓) การจัดทำหลักสูตร ๔) การประเมินหลักสูตร

๒.     กระบวนการพัฒนาหลักสูตรของ วิชัย วงษ์ใหญ่
แนวคิดและขั้นตอนของกระบวนการพัฒนาหลักสูตรมีดังนี้ (วิชัย วงษ์ใหญ่, 2554, หน้า  ๕๗-๕๙)
๑.      คณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรกำหนดจุดมุ่งหมาย หลักการและโครงสร้างและการออกแบบหลักสูตรและโครงสร้างขึ้นมา โดยอาศัยข้อมูลจากสภาพปัญหาและความต้องการของสังคมปัจจุบันโดยปรึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขาวิชาอย่างสม่ำเสมอ
๒.     ยกร่างเนื้อหาสาระ แต่ละกลุ่มประสบการณ์ แต่ละหน่วยการเรียน และแต่ละรายวิชาโดยปรึกษาหารือจากผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขาวิชา คณะกรรมการการพัฒนาหลักสูตรร่วมกับผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขาวิชาเป็นผู้กำหนดผลการเรียนรู้ จุดประสงค์เชิงพฤติกรรม หรือจุดประสงค์การเรียนรู้ วางแผนการสอน ทำบันทึกการสอน ผลิตสื่อการเรียน จัดกิจกรรมการเรียนการสอนเป็นกลุ่มหรือรายบุคคล
๓.     นำหลักสูตรที่พัฒนาได้แล้วไปทดลองใช้ในสถานศึกษานำร่อง (สถานศึกษาทดลองใช้หลักสูตรใหม่) โดยคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรกำหนดไว้ ถ้ามีข้อบกพร่องก็ทำการแก้ไขปรับปรุง โดยปรึกษาหารือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาอยู่ตลอดเวลา
๔.     อบรมผู้สอน ผู้บริหารทุกระดับ และบุคลากรทางการศึกษาให้เข้าใจหลักสูตรใหม่เพื่อจะได้ใช้หลักสูตรใหม่ให้เข้าถูกต้องเหมาะสม ตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตร รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ
๕.     นำหลักสูตรไปใช้ปฏิบัติการสอนที่สถานศึกษาก่อนประกาศใช้หลักสูตร สนับสนุนให้ผู้บริหารและผู้สอนนำหลักสูตรไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ในสถานศึกษาต่อไป กิจกรรมการใช้หลักสูตรใหม่มี ๔ ประการ คือ
๕.๑  การแปลงหลักสูตรไปสู่การสอน คือ จัดทำวัสดุหลักสูตร ได้แก่ เอกสารหลักสูตรสื่อและอุปกรณ์การสอนที่จะเป็นจะต้องใช้ประกอบการเรียนการสอน
๕.๒  ผู้บิหารจัดเตรียมสิ่งต่าง ๆ เช่น บุคลากร วัสดุหลักสูตรและบริการต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่อบรมผู้สอน และบุคลากรฝ่ายสนับสนุนการใช้หลักสูตร จัดห้องสมุด ห้องเรียน ห้องปฏิบัติการ แหล่งการเรียนรู้ และสื่อการสอนทุกชนิด รวมทั้งจัดงบประมาณสนับสนุนการบริหารหลักสูตร
๕.๓  การสอน เป็นหน้าที่ของผู้สอนประจำการทั่วไปที่จะต้องดำเนินการจัดการเรียนการสอนให้มีประสบความสำเร็จ ตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตร
๕.๔  การประเมินผล เพื่อให้ทราบข้อบกพร่องของหลักสูตร แล้วดำเนินการแก้ไขปรับปรุงต่อไป การประเมินผลมี ๒ ประเภท คือ การประเมินผลการเรียนของผู้เรียน และการประเมินผลหลักสูตร การประเมินผลหลักสูตร ได้แก่ การประเมินเอกสารหลักสูตร ประเมินผลการนำหลักสูตรไปใช้ การประเมินผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ประเมินผลการใช้หลักสูตรในการประเมินผลหลักสูตรนั้นจะต้องประเมินผลอย่างเป็นระบบต่อเนื่อง เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างในสังคมปัจจุบันย่อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง                การปกครอง สังคม วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เครื่องมือสื่อสาร เครื่องอำนวยความสะดวกใน        การดำเนินชีวิต และการประกอบอาชีพแต่ละสาขาวิชา ก็มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา 
                                
๓.     กระบวนการพัฒนาหลักสูตรของ Ralph, W.Tyler
Ralph, W.Tyler ได้เขียนหนังสือที่ชื่อ “Basic Principle of Curriculum and Instruction” เมื่อปี 1949 หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงแนวคิดการพัฒนาหลักสูตรโดยให้เหตุผลว่า การพัฒนาหลักสูตรจะต้องตอบคำถามพื้นฐานทั้ง ๔ ประการ คือ
๑.      จุดมุ่งหมายทางการศึกษาที่โรงเรียนควรจะบรรลุคืออะไร
What Education purpose should the school seek to attain?”
๒.     ประสบการณ์ทางการศึกษาที่ควรจะจัดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการศึกษาคืออะไร
How can learning experiences be select which are likely to be useful in attaining these objectives?” 
๓.     ประสบการณ์ทางการศึกษาเหล่านี้จะจัดให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร
How can learning experiences be organized for effective instruction?” 
๔.     จะประเมินอย่างไรว่าบรรลุจุดมุ่งหมายแล้ว
How can the effectiveness of learning experiences be evaluated?”
                  
                   จากคำถามของ Tyler ทั้ง ๔ ข้อ แสดงถึง ๔ ขั้นตอนของกระบวนการพัฒนาหลักสูตร โดยเรียงตามลำดับ ดังนี้
๑.      กำหนดจุดมุ่งหมาย / เป้าหมาย
๒.     เลือกแนวทางเพื่อบรรลุเป้าหมาย
๓.     จัดประสบการณ์เหล่านั้น
๔.     ประเมินผลที่ได้รับ
(นิรมล ศตวุฒิ, ๒๕๕๓, หน้า ๓)

                   เมื่อวิเคราะห์กระบวนการพัฒนาหลักสูตรของ Tyler แล้ว ขั้นตอนแรกจะเริ่มจากการศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้เรียน สังคม หรือชุมชน และเนื้อหาความรู้ก่อน จากนั้นจึงกำหนดจุดมุ่งหมายชั่วคราวของหลักสูตรให้สอดคล้องกับข้อมูลที่ได้มา แล้วจึงไปศึกษาปรัชญา จิตวิทยาการเรียนรู้ และเป้าหมายของสถานศึกษา แล้วจึงกลับมาพิจารณาจุดมุ่งหมายชั่วคราวว่าจะยอมรับได้ไหม โดยคำนึงถึงพื้นฐานของคุณค่าการศึกษา เป้าหมายการศึกษา และหน้าที่ของโรงเรียน หลังจากนั้นจึงกำหนดจุดมุ่งหมายที่เป็นจริง

บทสรุป
         จากการที่ได้ศึกษาแนวคิดของกระบวนการพัฒนาหลักสูตรของนักการศึกษาในหนังสือทั้ง ๓ เล่ม พบว่า มีจุดมุ่งหมายตรงกัน คือ เพื่อต้องการวิเคราะห์ ปรับปรุงรูปแบบของหลักสูตรให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของสังคมและความต้องการที่เหมาะสมกับความเป็นจริงให้มากที่สุด สิ่งที่เห็นต่างกัน คือ ขั้นตอนของกระบวนการพัฒนาหลักสูตรที่มีจำนวนขั้นตอนไม่เท่ากัน อย่างไรก็ตามการศึกษาแนวคิดของนักการศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการพัฒนาหลักสูตรทั้ง ๓ เล่ม ช่วยให้เห็นถึงกระบวนการสร้างหลักสูตรหรือปรับปรุงหลักสูตรที่มีอยู่ให้สอดคล้องกับสภาพที่เปลี่ยนแปลงของสังคม และให้ผู้เรียนมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีตรงตามจุดประสงค์ที่วางไว้

 เอกสารอ้างอิง
นิรมล ศตวุฒิ. (๒๕๕๓). การพัฒนาหลักสูตร. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
วิชัย วงษ์ใหญ่. (๒๕๒๑). การพัฒนาหลักสูตรและการสอนมิติใหม่. กรุงเทพฯ: ธนเวศวรการพิมพ์.
__________. (๒๕๕๔). กระบวนการพัฒนาหลักสูตรระดับอุดมศึกษา. กรุงเทพฯ: อาร์ แอนด์ ปริ้น.
สุเทพ อ่วมเจริญ. (๒๕๕๔). การพัฒนาหลักสูตร : ทฤษฎีและการนำไปใช้. นครปฐม:
 โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์
Ralph.W.Tyler. (1949). Basic Principle of Curriculum and Instruction. Chicago : The university of Chicago press.



โดย : นายสง่า วงค์ไชย  รหัสนักศึกษา 57255911
        สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน (กลุ่มการสอนภาษาไทย)
        หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต คณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยศิลปากร






ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม