I การปฏิบัติการวางแผนหลักสูตร (Curriculum Planning)
I ปฏิบัติการวางแผนหลักสูตร
(Curriculum
Planning)
การปฏิบัติการขั้นการวางแผนหลักสูตร (Curriculum
Planning) เป็นขั้นตอนของการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อนำไปวางแผนหลักสูตร
โดยจะกำหนดจุดหมาย (aim) จุดมุ่งหมายของหลักสูตร (goal)
ในขั้นตอนนี้จึงไดศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลที่จำเป็นในการวางแผนหลักสูตรดังนี้
๑.
การทำความกระจ่างชัดในความรู้
การวางแผนหลักสูตร
(Curriculum
Planning) เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานเพื่อศึกษาจากเอกสาร แนวคิด
และทฤษฎีต่าง ๆ เพื่อนำไปวางแผนหลักสูตร และกำหนดจุดหมาย (aim) และจุดมุ่งหมายของหลักสูตร (goal) ในการวางแผนหลักสูตรครั้งนี้ได้ศึกษาข้อมูลที่จะนำมาวิเคราะห์
ดังนี้
๑. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
(ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๕๒ – ๒๕๕๙
๒. พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ
พ.ศ. ๒๕๔๒,
(ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๕, (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๓
๓.
หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑
๔.
หลักสูตรกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน
พุทธศักราช ๒๕๕๑
๕. สี่เสาหลักการศึกษา ได้แก่
๕.๑ การเรียนเพื่อรู้ (Learning to
Know)
๕.๒ การเรียนรู้เพื่อปฏิบัติได้จริง (Learning to
Do)
๕.๓ การเรียนรู้เพื่อที่จะอยู่ร่วมกัน
(Learning
to Live Together)
๕.๔ การเรียนรู้เพื่อชีวิต (Learning to
Be)
๖. ทักษะในศตวรรษที่ ๒๑
ได้แก่
3R
ได้แก่ Reading (อ่านออก), (W)rite (เขียนได้) และ (A)Rithmetics
(คิดเลขเป็น)
7C ได้แก่
Critical
thinking & problem solving (ทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ
และทักษะในการแก้ปัญหา)
Creativity
& innovation (ทักษะด้านการสร้างสรรค์ และนวัตกรรม)
Cross-cultural
understanding (ทักษะด้านความเข้าใจต่างวัฒนธรรม ต่างกระบวนทัศน์)
Collaboration,
teamwork & leadership (ทักษะด้านความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม
และภาวะผู้นำ)
Communication,
information & media literacy (ทักษะด้านการสื่อสาร สารสนเทศ
และรู้เท่าทันสื่อ)
Computing
& ICT literacy (ทักษะด้านคอมพิวเตอร์
และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร)
Career &
leading skills (ทักษะอาชีพและทักษะการเรียนรู้)
๗.
พื้นฐานการพัฒนาหลักสูตร
๗.๑ ด้านปรัชญาการศึกษา (Philosphy)
๗.๑.๑
ปรัชญาการศึกษาสารัตถะนิยม (Essentialism)
๗.๑.๒ ปรัชญาการศึกษานิรัตรนิยม
(Perennialism)
๗.๑.๓
ปรัชญาการศึกษาอัตถิภาวะนิยม (Existentialism)
๗.๑.๔ ปรัชญาการศึกษาปฏิรูป
(Reconstructionism)
๗.๑.๕
ปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยม (Progressivism)
๗.๒ ด้านจิตวิทยา
เพื่อให้ทราบว่าผู้เรียนเป็นใคร
มีความต้องการและสนใจอะไรบ้าง
และมีพฤติกรรมอย่างไรโดยจะศึกษาแนวคิดของนักจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีการเรียนรู้
๔ กลุ่ม ได้แก่
๗.๒.๑ ทฤษฎีการเรียนรู้พฤติกรรมนิยม (Behaviorism)
๗.๒.๒ ทฤษฎีการเรียนรู้ปัญญานิยม (Cognitivism)
๗.๒.๓ ทฤษฎีการเรียนรู้มนุษยนิยม (Humanism)
๗.๒.๔ ทฤษฎีการเรียนรู้สรรค์สร้างนิยม
(Constructivism)
๗.๓ ด้านสังคม
ข้อมูลพื้นฐานด้านสังคมที่สำคัญที่ควรศึกษาและวิเคราะห์
ได้แก่
๗.๓.๑
แนวคิดของพัฒนาการทางสังคม ทั้ง ๔ ยุค ได้แก่ ยุคเกษตรกรรม ยุคอุตสาหกรรม
ยุคข้อมูลข่าวสารและฐานความรู้ และยุคปัญญานิยม
๗.๓.๒
แนวคิดการศึกษาตามมาตฐานสากล ได้แก่ การศึกษาเพื่อความสามารถในการดำรงไว้
การพัฒนาความรู้และทักษะสากลเพื่อเตรียมให้มีความสามารถ
สิ่งที่จะเป็นต้องมีในการจัดการเรียนรู้ระดับสากล
๒.
การระบุ การได้รับและการเข้าใจข้อมูลใหม่
เมื่อได้ทำความเข้าใจจากข้อมูลต่าง ๆ
แล้วจึงได้กำหนดข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาหลักสูตร “การเขียนเพื่อการสื่อสาร” ดังนี้
๑. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
(ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๕๒ – ๒๕๕๙
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
เป็นแนวทางการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่อนาคต
ยุทธศาสตร์การพัฒนาคนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน
เป็นยุทธศาสตร์อีกด้านหนึ่งที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาคนเพื่อก้าวสู่ศตวรรษที่ ๒๑ และเกี่ยวข้องกับการศึกษาไทย
เนื้อหาส่วนมากกล่าวถึงการพัฒนาคนในด้านต่าง ๆ
โดยเฉพาะการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นสิ่งสำคัญที่บรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่
๑๑ กล่าวไว้ว่า
...ส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกันของคนต่างวัยควบคู่ไปกับองค์กร
กลุ่มบุคคล ชุมชน ประชาชน และสื่อทุกประเภทเป็นแหล่งเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์
สื่อสารด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย
รวมถึงส่งเสริมการศึกษาทางเลือกที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน
และสร้างสังคมแห่ง การเรียนรู้ที่มีคุณภาพและสนับสนุนปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต”
(แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ฉบับที่ ๑๑), ๒๕๕๕, หน้า ๒๔)
จากข้อความในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่
๑๑ ข้างต้นจะเห็นว่า
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑๑
ต้องการมุ่งพัฒนาทักษะภาษาในการสื่อสารโดยนำสื่อจากแหล่งการเรียนรู้ต่าง ๆ
มาประยุกต์ ดังนั้นการฝึกการพัฒนาหลักสูตร “การเขียนเพื่อการสื่อสาร”
จึงสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑๑
เพื่อพัฒนาคนให้พร้อมกับการก้าว
สู่ศตวรรษที่
๒๑
๒. พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ
พ.ศ. ๒๕๔๒,
(ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๕, (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๓
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ
เป็นกฎหมายที่กำหนดขึ้นเพื่อแก้ไขหรือแก้ปัญหาทางการศึกษา พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ
พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้กำหนดแนวทางการจัดการศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ
ดังนี้
มาตรา ๒๓ การจัดการศึกษา ทั้งการศึกษาในระบบ
การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ต้องเน้นความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้และบูรณาการตามความเหมาะสมของแต่ละระดับการศึกษาในเรื่องต่อไปนี้
(๑) ความรู้เรื่องเกี่ยวกับตนเอง
และความสัมพันธ์ของตนเองกับสังคม ได้แก่ ครอบครัว ชุมชน ชาติ และสังคมโลก รวมถึงความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของสังคมไทยและระบบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
(๒) ความรู้และทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
รวมทั้งความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์เรื่องการจัดการ การบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลยั่งยืน
(๓) ความรู้เกี่ยวกับศาสนา
ศิลปะ วัฒนธรรม การกีฬา ภูมิปัญญาไทย และการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญา
(๔) ความรู้ และทักษะด้านคณิตศาสตร์
และด้านภาษา เน้นการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง
(๕) ความรู้ และทักษะในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข
มาตรา ๒๔ การจัดกระบวนการเรียนรู้ ให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ
ดังต่อไปนี้
(๑) จัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียน
โดยคำนึงถึง ความแตกต่างระหว่างบุคคล
๒) ฝึกทักษะ กระบวนการคิด
การจัดการ การเผชิญสถานการณ์ และการประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา
(๓) จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง
ฝึกการปฏิบัติให้ทำได้ คิดเป็น ทำเป็น รักการอ่านและเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง
(๔) จัดการเรียนการสอนโดยผสมผสานสาระความรู้ด้านต่าง
ๆ อย่างได้สัดส่วนสมดุลกัน รวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยมที่ดีงามและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไว้ในทุกวิชา
(๕) ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สอนสามารถจัดบรรยากาศ
สภาพแวดล้อม สื่อการเรียน และอำนวย ความสะดวกเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และมีความรอบรู้
รวมทั้งสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ทั้งนี้ ผู้สอนและผู้เรียนอาจเรียนรู้ไปพร้อมกันจากสื่อการเรียนการสอนและแหล่งวิทยาการประเภทต่าง
ๆ
(๖) จัดการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ทุกเวลาทุกสถานที่
มีการประสานความร่วมมือกับบิดามารดา ผู้ปกครอง และบุคคลในชุมชนทุกฝ่าย เพื่อร่วมกันพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ
(กระทรวงศึกษาธิการ, ๒๕๕๓)
กล่าวโดยสรุป
สาระสำคัญของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒, (ฉบับที่ ๒)
พ.ศ.๒๕๔๕, (ฉบับที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๕๓) สรุปได้ว่า การจัดการศึกษาจะต้องจัดการเรียนการสอนลักษณะการบูรณาการเนื้อหา
คือ ผสมผสานทั้งความรู้ต่าง ๆ คุณธรรมจริยธรรม และกระบวนการ อันเกิดจากศาสตร์หลากหลายแขนง
ได้แก่ มนุษย์ศาสตร์ สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเฉพาะการนำสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศเข้าใช้ในการจัดการเรียนการสอนให้ทันสมัย
เพื่อสืบค้นข้อมูลจากแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลาย
๓.
หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑
หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน
พุทธศักราช ๒๕๕๑
จัดทำขึ้นเพื่อให้การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสอดคล้องกับสภาพความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมและความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการ
เป็นการสร้างกลยุทธ์ใหม่ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้สามารถตอบสนองความต้องการของบุคคล
สังคมไทย ผู้เรียนมีศักยภาพในการแข่งขันและร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ในสังคมโลก
ปลูกฝังให้ผู้เรียนมีจิตสำนึกในความเป็นไทย มีระเบียบวินัย
คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมและยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
(กระทรวงศึกษาธิการ, ๒๕๕๑, คำสั่ง)
จากคำสั่งให้ใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน
พุทธศักราช ๒๕๕๑ ข้างต้นสรุปได้ว่า หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช
๒๕๕๑
ต้องการจัดการเรียนการสอนจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสอดคล้องกับสภาพความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมและความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการ
และต้องการผลิตคนเพื่อเข้าสู่สังคมที่เปลี่ยนแปลงไปด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ก้าวล้ำทางด้านวิทยาการและสรรพวิทยาต่าง
ๆ ในยุคศตวรรษที่ ๒๑
สมรรถนะสำคัญที่กำหนดให้เกิดกับผู้เรียน
ได้แก่ ๑) ความสามารถในการสื่อสาร ๒) ความสามารถในการคิด ๓) ความสามารถในการแก้ปัญหา ๔)
ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต ๕) ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี
โดยเฉพาะความสามารถในการสื่อสารเป็นความสามารถสำคัญในการรับส่งสาร
แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิด และความรู้สึก
และทัศนะของตนเองเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร
ตลอดจนเลือกใช้วิธีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อตนเองและสังคม
ดังนั้นทักษะด้านการสื่อสารจึงเป็นทักษะจำเป็นในการสื่อสารในโลกยุคของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจ
เพราะช่วยในการเจรจาต่อรองเพื่อขจัดปัญหาต่าง ๆ แลกเปลี่ยนข้อมูล
รวมถึงการเลือกรับหรือไม่รับข้อมูลด้วยเหตุผลและถูกต้อง
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น
ทักษะการสื่อสารจึงเป็นทักษะจำเป็นสำหรับผู้เรียนที่จะต้องฝึกฝนให้เกิดความชำนาญ
ได้แก่ ทักษะการพูด การฟัง การอ่าน และการเขียน โดยเฉพาะการเขียนซึ่งเป็นทักษะการส่งสารที่จะต้องส่งความรู้
ความคิด ความรู้สึกด้วยการเขียนในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล
หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน
พุทธศักราช ๒๕๕๑
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยได้กำหนดทักษะการสื่อสารด้วยการเขียนไว้ในสาระที่ ๒
การเขียน มาตรฐาน ท ๒.๑
ใช้กระบวนการเขียนเขียนสื่อสาร เขียนเรียงความ ย่อความ
และเขียนเรื่องราวในรูปแบบต่าง ๆ เขียนรายงานข้อมูลสารสนเทศและรายงานการศึกษาค้นคว้าอย่างมีประสิทธิภาพ
และกำหนดคุณภาพของผู้เรียนเมื่อจบการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ กล่าวว่า
เขียนสื่อสารในรูปแบบต่าง ๆ
โดยใช้ภาษาได้ถูกต้องตรงตามวัตถุประสงค์ ย่อความจากสื่อที่มีรูปแบบและเนื้อหาที่หลากหลาย
เรียงความแสดงแนวคิดเชิงสร้างสรรค์โดยใช้โวหารต่าง ๆ
เขียนบันทึกรายงานการศึกษาค้นคว้าตามหลักการเขียนทางวิชาการ
ใช้ข้อมูลสารสนเทศในการอ้างอิง ผลิตผลงานของตนเองในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งสารคดีและบันเทิงคดี
รวมทั้งการประเมินงานเขียนของผู้อื่นและนำมาพัฒนางานเขียนของตนเอง
(กระทรวงศึกษาธิการ, ๒๕๕๑, หน้า ๖)
จากคุณภาพของผู้เรียนข้างต้นสรุปได้ว่า
นักเรียนจะต้องเขียนสื่อสารในรูปแบบต่าง ๆ โดยนำข้อมูลจากสื่อสารสนเทศ เพื่อผลิตผลงานเป็นของตนเอง ด้วยเหตุนี้
การเขียนสื่อสารจึงเป็นทักษะสำคัญและจำเป็นสำหรับผู้เรียนที่หลักสูตรปัจจุบันต้องการมุ่งเน้นให้เกิดกับผู้เรียนและสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน
โดยเฉพาะทักษะการเขียนเพื่อการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้ได้ผลงานออกมาในรูปแบบต่าง
ๆ ดังนั้น การพัฒนาหลักสูตร “การเขียนเพื่อการสื่อสาร” ครั้งนี้จึงสอดคล้องกับเป้าหมายของหลักสูตร
สมรรถนะของหลักสูตร และคุณภาพของผู้เรียนที่หลักสูตรปัจจุบันต้องการให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนในยุคศตวรรษที่
๒๑
๔. สี่เสาหลักของการเรียนรู้: หลักสำคัญของการจัดการศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑
การพัฒนาหลักสูตรให้ผู้เรียนบรรลุตามวัตถุประสงค์นั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาแนวโน้มการจัดการศึกษาของหลาย
ๆ ประเทศเพื่อพัฒนาชีวิตของคนและสังคมให้ดียิ่งขึ้นและพร้อมก้าวสู่ยุคศตวรรษใหม่
ด้วยเหตุนี้องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESGO) ได้ตระหนักถึงความรู้สึกของคนในโลก
จึงได้เริ่มโครงการการศึกษาสำหรับศตวรรษที่ ๒๑ และได้มีข้อสรุปเพื่อเป็นแนวทางในการจัดการศึกษาในศตวรรษที่
๒๑ และตั้งชื่อรายงานว่า “Learning : The Treasure Within”
และได้แปลเป็นฉบับภาษาไทยในชื่อว่า “การเรียนรู้: ขุมทรัพย์ในตน” (คณะกรรมาธิการนานาชาติว่าด้วยการศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑, ๒๕๔๑, คำนำ) โดยมีสาระสำคัญกล่าวถึง “สี่เสาหลักของการจัดการเรียนรู้”
ซึ่งเป็นหลักการจัดการศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ จำเป็นต้องคำนึงถึงหลักการเรียนรู้ ๔ ลักษณะ ได้แก่ ๑) การเรียนเพื่อรู้ (Learning
to Know) ๒) การเรียนรู้เพื่อปฏิบัติได้จริง (Learning to Do)
๓) การเรียนรู้เพื่อที่จะอยู่ร่วมกัน (Learning to Live Together)
๔) การเรียนรู้เพื่อชีวิต (Learning to Be)
๑. การเรียนเพื่อรู้ (Learning to Know)
หมายถึง
การแสวงหาความรู้ ข้อมูลต่าง ๆ เพื่อจัดประเภทและสั่งสมไว้
โดยใช้กระบวนการวิธีการในการแสวงหาความรู้ซึ่งการเรียนวิธีการหาความรู้นั้นจะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจธรรมชาติสิ่งแวดล้อมรอบตัว
และที่สำคัญทำให้เราสามารถมีชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี การเรียนรู้ประเภทนี้จะอาศัยความพึงพอใจที่ได้เข้าใจ
ได้รู้ และค้นพบสิ่งต่าง ๆ
เพราะความรู้ที่ได้ค้นพบนั้นจะนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
การสอนให้ผู้เรียนบรรลุหลักการข้อนี้ คือ สอนให้ผู้เรียนมีเครื่องมือ
ความคิดรวบยอด และข้อมูลอ้างอิงต่าง ๆ อันจะช่วยในการศึกษาสิ่งที่เจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และกระบวนทัศน์
หรือแนวความต่าง ๆ ที่มีอยู่ในโลกยุคปัจจุบัน ดังนั้น การเรียนเพื่อรู้ (Learning to
Know) จึงเป็นการผสมผสานกับประสบการณ์ในการทำงานมากขึ้น
เพราะจะทำให้การทำงานมีลักษณะซ้ำซากน้อยลง และสามารถนำประสบการณ์ที่ได้ไปประยุกต์ไปตลอดชีวิต
๒.
การเรียนรู้เพื่อปฏิบัติได้จริง (Learning to Do)
หมายถึง
การเตรียมนักเรียนเข้าสู่ภาคปฏิบัติเพื่อมีส่วนช่วยในการผลิตสินค้าบางอย่าง
การเรียนรู้ลักษณะนี้จึงเป็นการถ่ายทอดงานจากทักษะไปสู่ความสามารถ
โดยเฉพาะวงการอุตสาหกรรมจำเป็นต้องหาผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ได้แก่ ช่างคุมเครื่อง
ช่างออกแบบ ช่างจัดระบบ และช่างวิจัย
ด้วยเหตุนี้การศึกษาจึงต้องตอบสนองความต้องการโดยการฝึกให้นักเรียนมี “ทักษะชีวิต”
คือ มีทั้งความรู้และวิธีการดำเนินงานต่าง ๆ ที่จะสามารถเชื่อมโยงความรู้กับทักษะเข้าด้วยกัน
นอกจากนี้ยังต้องพัฒนางานด้านบริการโดยการปลูกฝังคุณลักษณะให้กับมนุษย์
ซึ่งจะต้องให้สามารถสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างราบรื่น ดังนั้น
การเรียนรู้เพื่อปฏิบัติได้จริง (Learning to Do) คือ
การสอนให้นักเรียนมีทั้งความรู้และทักษะพอที่ก้าวสู่ตลาดแรงงานอุตสาหกรรมหรือเกษตรกรรม
โดยนำความรู้ทั้งเนื้อหา เทคโนโลยี และทักษะต่าง ๆ
อันพอจะช่วยเสริมสร้างความสามารถด้านวิชาชีพ
๓.
การเรียนรู้เพื่อจะอยู่ร่วมกัน (Learning to Live Together)
หมายถึง การแก้ปัญหาในโลกยุคปัจจุบัน
เพื่อสามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้ เนื่องด้วยสังคมปัจจุบันเป็นสังคมที่ก้าวหน้าไปอย่างมาก
ทำให้การจัดการศึกษาจะต้องสอนให้นักเรียนเคารพผู้อื่น
รวมทั้งวัฒนธรรมและศีลธรรมของผู้อื่น โดยการสร้างบรรยากาศ
จัดสภาพการเรียนการสอนในโรงเรียนให้เสมือนสังคมภายนอก เพื่อฝึกให้เรียนได้แก้ปัญหา
การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคม การแสดงออกทางความคิดที่สำคัญนักเรียนจะต้องเรียนรู้ว่ามนุษย์มีความแตกต่างกัน
และในทางกลับกันก็มีบางอย่างที่เหมือนกันและต่างก็พึ่งพาอาศัยกัน เห็นอกเห็นใจกัน
และทำงานร่วมกันจนบรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกัน
ดังนั้น การเรียนรู้เพื่อจะอยู่ร่วมกัน
(Learning
to Live Together)
จึงถือเป็นการเรียนรู้สังคมและเตรียมพร้อมให้นักเรียนสามารถก้าวสู่สังคมได้อย่างมีความสุขและอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นได้
แก้ปัญหาและแสดงออกทางความคิดที่ไม่อคติ
๔.
การเรียนรู้เพื่อชีวิต (Learning to Be)
หมายถึง การเรียนเพื่อสามารถแก้ไขปัญหาของตนเอง ตัดสินใจด้วยตนเอง
และมีความรับผิดชอบต่อตนเอง การศึกษาจำต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็กระดับปฐมวัยเพื่อให้สติปัญญาและไหวพริบและเข้าใจโลกรอบตัว
รวมทั้งการประพฤติตนด้วยความรับผิดชอบและเป็นธรรม
การสอนเพื่อพัฒนานักเรียนในลักษณะดังกล่าวจะทำให้นักเรียนมีเสรีภาพทางความคิด
มีความรู้สึกนึกคิดและจินตนาการเพื่อจะได้พัฒนาความสามารถของตนและเข้าใจตนเองได้มากยิ่งขึ้น
ซึ่งจะทำให้เป็นมนุษย์ที่เพียบพร้อมบริบูรณ์ ตั้งแต่ เกิดจนตลอดชีวิต ดังนั้น การเรียนรู้เพื่อชีวิต
(Learning to be)
จะช่วยให้เห็นภาพของบุคลิกตนเองอยู่ตลอดเวลา เพื่อสะท้อนให้เห็นความต้องการทางสังคมของตัวตน
และที่สำคัญช่วยก่อให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ในสังคมของนักเรียนได้ดียิ่งขึ้น
กล่าวโดยสรุป
สี่เสาหลักของการศึกษาทั้ง ๔ ลักษณะที่ได้กล่าวข้างต้นเป็นความจำเป็นหรือจุดมุ่งหมายของการจัดการศึกษาในยุคศตวรรษที่
๒๑ เพื่อสร้างมนุษย์ที่เพียบพร้อมบริบูรณ์ทั้งสี่ลักษณะ
และจะต้องส่งเสริมสนับสนุนและผสมผสานให้สอดคล้องกันไปเพื่อนำมาซึ่งประโยชน์อันสูงสุดของมนุษย์ไปจนตลอดชีวิต
ด้วยเหตุนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ควรช่วยวางรากฐานของการศึกษาและนำเสนอแนวทางในการดำเนินงานของการศึกษาทั้งในส่วนของเนื้อหาสาระ
การเรียนการสอน และที่สำคัญที่สุดคือ การวางพื้นฐานของหลักสูตร
๕. Learning
skills: ทักษะของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑
ในยุคศตวรรษที่
๒๑ จำเป็นจะต้องปลูกฝังทักษะด้านการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน
เพราะปัจจุบันประเทศไทยก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ ๒๑
ซึ่งเป็นสังคมแห่งการเปลี่ยนแปลงทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ วิถีชีวิต วัฒนธรรม
รวมทั้งสิ่งแวดล้อมรอบตัว
ดังนั้นการปลูกฝังทักษะการเรียนรู้จึงจำเป็นสำหรับเด็กไทยให้สามารถยืนอยู่บนเวทีในประเทศและต่างประเทศได้อย่างมีความสุขและอยู่รอดปลอดภัย
การศึกษาในยุคศตวรรษที่ ๒๑
จำเป็นต้องพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะดังกล่าว
เพื่อเตรียมคนออกไปเป็นคนทำงานที่ใช้ความรู้ (Knowledge works) และเป็นบุคคลพร้อมเรียนรู้
(learning person) ทักษะการเรียนรู้ของคนในศตวรรษที่ ๒๑
ที่จำเป็นสำหรับผู้เรียนจะต้องเรียนรู้ตั้งแต่อนุบาลไปจนถึงมหาวิทยาลัย
และตลอดชีวิต คือ 3R x 7C
3R ได้แก่ Reading (อ่านออก), (W)rite (เขียนได้)
และ (A)Rithmetics (คิดเลขเป็น)
7C ได้แก่
Critical
thinking & problem solving (ทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ
และทักษะในการแก้ปัญหา)
Creativity
& innovation (ทักษะด้านการสร้างสรรค์ และนวัตกรรม)
Cross-cultural
understanding (ทักษะด้านความเข้าใจต่างวัฒนธรรม ต่างกระบวนทัศน์)
Collaboration,
teamwork & leadership (ทักษะด้านความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม
และภาวะผู้นำ)
Communication,
information & media literacy (ทักษะด้านการสื่อสาร สารสนเทศ
และรู้เท่าทันสื่อ)
Computing
& ICT literacy (ทักษะด้านคอมพิวเตอร์
และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร)
Career &
leading skills (ทักษะอาชีพ และทักษะการเรียนรู้)
(วิจารณ์ พานิช, ๒๕๕๕, หน้า ๑๙)
การเรียนรู้ 3R x 7C ดังกล่าวข้างต้น จึงมีการประชุมประจำปีครั้งใหม่ของกลุ่มประชาคม ASCD กล่าวถึง 3R ใหม่ คือ
Rigor (ความเคร่งครัด ความถูกต้องแม่นยำ) ได้แก่ ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม (Learning
innovation skills)
Relevance (ความสัมพันธ์) ได้แก่ ทักษะชีวิตและอาชีพ
(Life and career skills)
Relationships (สัมพันธภาพ) ได้แก่
ทักษะเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี สารสนเทศ และสื่อ (information media and technology skills)
จากแนวคิดเกี่ยวกับทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่
๒๑ จะเห็นว่าเป็นทักษะที่ต้องการพัฒนาผู้เรียนให้มีทั้งความรู้
ความสามารถด้านทักษะต่าง อันจะนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ
และเป็นบุคคลที่มีทั้งความรู้และพร้อมที่จะเรียนรู้เพื่อก้าวสู่ศตวรรษที่ ๒๑
๖. ปรัชญาการศึกษา: เป้าหมายหลักสูตรที่เน้นความรู้ ผู้เรียน และสังคม
การพัฒนาหลักสูตรขั้นพื้นฐานจำเป็นต้องยึดหลักปรัชญาการศึกษาในการจัดการศึกษา เพื่อเน้นให้ผู้เรียนเป็นคนเก่ง
คนดี และมีความสุข
การจัดการศึกษาโดยยึดตามหลักปรัชญานั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
โดยเฉพาะใน การพัฒนาหลักสูตร
เพราะปรัชญาการศึกษาจะนำมาใช้กำหนดแนวทางในการจัดการศึกษา กำหนดจุดหมาย จุดมุ่งหมาย
เลือกเนื้อหาสาระและนำมาจัดหลักสูตรได้อย่างเป็นระบบ
ทำให้หลักสูตรนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น (สุเทพ อ่วมเจริญ, ๒๕๕๗, หน้า ๓๓)
ดังนั้นการจัดการศึกษาต้องอาศัยปรัชญาในการกำหนดจุดมุ่งหมายเพื่อหาคำตอบทางการศึกษา
ปรัชญาการศึกษาที่เกี่ยวข้องและนำมาใช้ในการพัฒนาหลักสูตร
มีดังนี้
๖.๑ เป้าหมายหลักสูตรเน้นด้านความรู้
ปรัชญาการศึกษาสารัตถนิยม (Essentialism)
เป็นปรัชญาการศึกษาที่มุ่งเน้นการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมและค่านิยมไว้
เพราะแบบแผนเหล่านี้เป็นของซึ่งได้ผ่านการพิจารณากลั่นกรองมาแล้วว่าเป็นของดี
เหมาะสม เราจึงควรเรียนรู้ เข้าใจ จดจำ และรักษาเอาไว้ คือ
การสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมให้กับคนรุ่นหลัง ๆ ปรัชญาการศึกษาสารัตถนิยมจึงเน้นการพัฒนาหลักสูตรที่เน้นเนื้อหา
(Subject-matter Curriculum) เป็นสำคัญ คือ
เน้นเนื้อหาที่เกี่ยวกับความรู้พื้นฐาน เช่น ภาษา ประวัติศาสตร์ คำนวณ
และเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ ค่านิยม
และวัฒนธรรมของสังคมที่ยึดถือปฏิบัติและควรรักษาไว้ กล่าวโดยสรุปปรัชญาการศึกษาสารัตถนิยมจึงมีความเชื่อว่า
ระบบการศึกษาควรเน้นหนักในการศึกษาความรู้และวัฒนธรรมซึ่งเป็นแนวทางทีจะไปสู่การอนุรักษ์และถ่ายทอดวัฒนธรรมของสังคม (พิมพ์พรรณ เทพสุเมธานนท์ และคณะ, ๒๕๕๓: วิทย์ วิศทเวทย์, ๒๕๕๕:
ไพฑูรย์ สินลารัตน์, ๒๕๕๖: สุเทพ อ่วมเจริญ,
๒๕๕๗)
ปรัชญาการศึกษานิรันตรนิยม
(Perenialism) เป็นปรัชญาการศึกษาที่มีแนวคิดเชื่อว่า
การศึกษาควรจะได้สอนสิ่งซึ่งเป็นนิรันดร ไม่เปลี่ยนแปลง มีคุณค่า
ไม่จะเป็นยุคสมัยใด การจัดการศึกษาจึงมุ่งเน้นการสร้างคนให้เป็นคนที่สมบูรณ์
เป้นคนที่แท้จริง เพื่อการพัฒนาคุณสมบัติด้านสติปัญญาและเหตุผล
หลักสูตรการศึกษาขึงเน้นการฝึกฝนให้ผู้เรียนเป็นผู้ที่รู้จักใช้สติปัญญา
เหตุผลและความรู้อย่างอิสระ โดยเนื้อหาของหลักสูตรเป็น ๒ กลุ่ม คือ
กลุ่มศิลปะทางภาษา ได้แก่ ไวยากรณ์ วาทศิลป์ การใช้ภาษา ฟัง พูด อ่าน เขียน
และการใช้เหตุผล และอีกกลุ่มเป็นกลุ่มศิลปะการคำนวณ ได้แก่ เลขาคณิต ดาราศาสตร์
คิดคำนวณ และดนตรี ทั้งนี้ผู้เรียนจะต้องแสดงออกเป็นพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น
การถกเถียง อธิปรายกลุ่ม และใช้เหตุผลโต้แย้งด้วยสติปัญญา
กล่าวโดยสรุปปรัชญาการศึกษานิรันตรนิยม (Perenialism) มีความเชื่อว่า
ระบบการศึกษาควรเน้นการจัดประสบการณ์ให้ได้มาซึ่งความรู้ ความคิดที่เป็นสัจธรรม มีคุณธรรมและมีเหตุผล
(พิมพ์พรรณ เทพสุเมธานนท์ และคณะ, ๒๕๕๓: วิทย์ วิศทเวทย์, ๒๕๕๕: ไพฑูรย์
สินลารัตน์, ๒๕๕๖: สุเทพ อ่วมเจริญ,
๒๕๕๗)
๖.๒ เป้าหมายหลักสูตรเน้นด้านผู้เรียน
ปรัชญาการศึกษาอัตถิภาวะนิยม
(Existentialism)
เป็นปรัชญาการศึกษาที่ มุ่งเสริมสร้างให้มนุษย์มีเสรีภาพในการเลือกและรู้จักใช้เสรีภาพในการเลือกอย่างมีความรับผิดชอบในตัวเอง
คือ ถือว่ามนุษย์ย่อมเป็นตัวของตัวเอง
มีสิทธิเสรีภาพที่จะทำ พูด คิด
ได้ตามประสงค์และมีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง
การจัดการศึกษาจึงมุ่งเพื่อให้เด็กพัฒนาความเป็นมนุษย์ของตัวเองอย่างเต็มที่
การศึกษาจึงต้องสามารถสอนให้เด็กเป็นตัวของตัวเอง มีเสรีภาพในการเลือก มีความรับผิดชอบต่อการตัดสินใจของตนเอง
เพื่อให้เด็กสามารถเผชิญปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างชาญฉลาดด้วยสติปัญญาของตนเอง
ด้วยเหตุนี้เนื้อหาในหลักสูตรจึงประสบการณ์ทางสังคม
ตลอดจนเน้นเนื้อหาที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ด้วยการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ในรูปแบบต่าง
ๆ กล่าวโดยสรุปปรัชญาการศึกษาอัตถิภาวะนิยมมีความเชื่อว่า การศึกษามีความสำคัญในแง่ของวิธีการที่นำมาใช้
คือ กระบวนการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์
เพื่อให้ผู้เรียนมีความสามารถในการแก้ปัญหาในบทเรียนและนำเอากระบวนการแก้ปัญหาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
(พิมพ์พรรณ เทพสุเมธานนท์ และคณะ, ๒๕๕๓: วิทย์
วิศทเวทย์, ๒๕๕๕: ไพฑูรย์ สินลารัตน์,
๒๕๕๖: สุเทพ อ่วมเจริญ, ๒๕๕๗)
๖.๓ เป้าหมายหลักสูตรเน้นด้านสังคม
ปรัชญาการศึกษาปฏิรูปนิยม
(Reconstructionism) มีแนวคิดที่ว่าการศึกษามีความสัมพันธ์กับสังคม คือ
ให้การศึกษาช่วยปรับปรุง พัฒนา และสร้างสรรค์สังคมใหม่ที่ดีและเหมาะสม
การจัดการศึกษาตามปรัชญาการศึกษาปฏิรูปนิยม จะต้องให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตนเอง ลงมือทำเอง
มองเห็นปัญหาและเข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสังคม ดังนั้น
หลักสูตรการศึกษาจึงเน้นที่สังคม (Social- oriented Curriculum) เป็นหลัก
โดยให้นักเรียนได้เรียนรู้และเข้าใจสภาพสังคมอย่างดีพอจากการได้ลงมือกระทำ
มองเห็นปัญหาต่าง ๆ และเน้นหนักในการแก้ไขปรับปรุงสังคม
โดยผนวกกับปรัชญาพิพัฒนาการนิยมที่เน้นพัฒนาผู้เรียนให้เป็นไปตามความต้องการของตนเอง
กล่าวโดยสรุปปรัชญาการศึกษาปฏิรูปนิยม (Reconstructionism)
มีความเชื่อว่า การศึกษาควรเป็นเครื่องมือของมนุษย์ในการปฏิรูปสังคม (พิมพ์พรรณ
เทพสุเมธานนท์ และคณะ, ๒๕๕๓: วิทย์
วิศทเวทย์, ๒๕๕๕: ไพฑูรย์ สินลารัตน์,
๒๕๕๖: สุเทพ อ่วมเจริญ, ๒๕๕๗)
กล่าวโดยสรุป
การพัฒนาหลักสูตรจำเป็นต้องศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานด้านปรัชญาการศึกษาเพราะการจัดการศึกษาต้องอาศัยปรัชญาในการกำหนดเป้าหมายของหลักสูตรที่มุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนเป็นคนเก่ง
คนดี และมีความสุข
๗.
แนวคิดของนักจิตวิทยา: ความต้องการ ความสนใจ และพฤติกรรมของผู้เรียน
การพัฒนาหลักสูตรจำเป็นต้องวิเคราะห์พื้นฐานด้านจิตวิทยา
เพื่อศึกษาว่าผู้เรียนเป็นใคร มีความต้องการและสนใจในเรื่องอะไรบ้าง ที่สำคัญคือ ศึกษาพฤติกรรมของผู้เรียนว่าเป็นอย่างไร
ดังนั้นนักพัฒนาหลักสูตรจำเป็นจะต้องศึกษาพื้นฐานด้านจิตวิทยาเพื่อสร้างหลักสูตรให้เหมาะสมกับความต้องการและความสนใจของผู้เรียน
การศึกษาความต้องการ ความสนใจ
และพฤติกรรมของผู้เรียนจำเป็นจะต้องอาศัยแนวคิดของนักจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีการเรียนรู้
ความจำเป็นที่จะต้องศึกษาทฤษฎีการเรียนรู้ เพราะว่าการเรียนรู้ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
(สุรางค์ โค้วตระกูล,
๒๕๕๔, หน้า ๑๘๕) การนำทฤษฎีการเรียนรู้มาใช้ในการพัฒนาหลักสูตรเพื่อต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของนักเรียนให้เกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้หลักสูตร
นักจิตวิทยาได้จำแนกทฤษฎีการเรียนรู้ไว้อย่างหลากหลาย
ในที่นี่จะขอแบ่งทฤษฎี การเรียนรู้ออกเป็น
๔ กลุ่ม ดังนี้ ๑) ทฤษฎีการเรียนรู้พฤติกรรมนิยม (Behaviorism) ๒)
ทฤษฎีการเรียนรู้ปัญญานิยม (Cognitivism)
๓) ทฤษฎีการเรียนรู้มนุษยนิยม (Humanism) ๔)
ทฤษฎีการเรียนรู้สรรค์สร้างนิยม (Constructivism)
๑. ทฤษฎีการเรียนรู้พฤติกรรมนิยม (Behaviorism)
ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพฤติกรรมนิยม
(Behaviorism) เริ่มขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ.
๑๙๑๒ ซึ่งนำเอาแนวคิดของพาฟลอฟมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการอธิบายถึงพฤติกรรมที่เกิดขึ้นโดยอาศัยการวางเงื่อนไขจากปฏิกิริยาสะท้อนตามธรรมชาติ
ลักษณะโดยทั่วไปของทฤษฎีกลุ่มพฤติกรรมนิยมนี้จะศึกษาพฤติกรรมที่สามารถสังเกตเห็นได้หรือเป็นพฤติกรรมที่สามารถวัดได้เท่านั้น
ซึ่งเป็นการศึกษาพฤติกรรมที่มีการปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม เช่น พฤติกรรมภายนอก
คือ พฤติกรรมที่สามารถมองเห็นได้ เช่น การกิน การเดิน การพูด ฯลฯ และพฤติกรรมภายใน
คือ พฤติกรรมที่ไม่สามารถมองเห็นได้ เช่น การคิด และความรู้สึก ฯลฯ
นักจิตวิทยาในกลุ่มพฤติกรรมนิยมนี้ได้เสนอหลักการเรียนรู้ซึ่งจะนำมาใช้ใน การเรียนการสอน ได้แก่ อิวาล
พาฟลอฟ (Ivan Pavloy), บีเอฟ สกินเนอร์ (B.F.Skiner), ธอร์นไดร์ส (Thorndike)
๑.๑
การวางเงื่อนไขแบบคลาสสิก (Classical Conditioning) ของอิวาล พาฟลอฟ
(Ivan Pavloy)
พาฟลอฟได้ทำการทดลองให้สุนัขน้ำลายไหลด้วยเสียงกระดิ่ง
โดยธรรมชาติแล้วสุนัขจะไม่มีน้ำลายไหลเมือ่ได้ยินเสียงกระดิ่ง
แต่พาฟลอฟได้นำเอาผงเนื้อบดมาเป็นสิ่งเร้าตามธรรมชาติ ทำให้สุนัขน้ำลายไหลได้ เขาใช้สิ่งเร้าทั้งสองคู่กันหลาย
ๆ ครั้ง แล้วตัดสิ่งเร้าตามธรรมชาติออกเหลือแต่เสียงกระดิ่ง
ซึ่งเป็นสิ่งเร้าที่วางเงื่อนไข ปรากฏว่าสุนัขน้ำลายไหลเมื่อได้ยินเสียงกระดิ่งอย่างเดียว
จึงสรุปได้ว่า การเรียนรู้ของสุนัขเกิดจากการรู้จักเชื่อมโยงระหว่างเสียงกระดิ่ง
ผงเนื้อบด และพฤติกรรมน้ำลายไหล (ทิศนา แขมมณี, ๒๕๕๒: สุรางค์ โค้วตระกูล, ๒๕๕๓: อุบลรัตน์ เพ็งสถิต,
๒๕๕๓) พาฟลอฟจึงสรุปว่า การเรียนรู้สิ่งมีชีวิตเกิดจากการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่วางเงื่อนไข
(Conditioning stimulus)
ทฤษฎีการเรียนรู้การวางเงื่อนไข
(Conditioning stimulus) ของพาฟลอฟ (Ivan Pavloy) สรุปได้ดังนี้
๑.
พฤติกรรมการตอบสนองของมนุษย์เกิดจากการวางเงื่อนไขที่ตอบสนองต่อความต้องการทางธรรมชาติ
(สุนัขน้ำลายไหลเมื่อได้รับผงเนื้อ)
๒. พฤติกรรมการตอบสนองของมนุษย์สามารถเกิดขึ้นได้จากสิ่งเร้าที่เชื่อมโยงกับสิ่งเร้าตามธรรมชาจิ
(สุนัขน้ำลายไหลเมื่อได้ยินเสียงกระดิ่ง)
๓.
พฤติกรรมการตอบสนองของมนุษย์ที่เกิดจากสิ่งเร้าที่เชื่อมโยงสิ่งเร้าธรรมชาติจะลดลงเรื่อย
ๆ และหยุดลงในที่สุดหากไม่ได้รับการตอบสนองตามธรรมชาติ
(เมื่อสั่นกระดิ่งโดยไม่ให้ผงเนื้อติด ๆ กันหลายครั้งสุนัขจะหยุดน้ำลายไหล)
๔. พฤติกรรมการตอบสนองของมนุษย์ต่อสิ่งเร้าที่เชื่อมโยงกับสิ่งเร้าธรรมชาติจะลดลงเรื่อย
ๆ และหยุดไปเมื่อไม่ได้รับการตอบสนองตามธรรมชาติ
และจะกลับปรากฏขึ้นได้อีกโดยไม่ต้องใช้สิ่งเร้าตามธรรมชาติ
(เมื่อผ่านไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง สั่นกระดิ่งใหม่ โดยไม่ให้ผงเนื้อเช่นเดิม
สุนัขจะน้ำลายไหลอีก
๕. มนุษย์มีแนวโน้มที่จะรับรู้สิ่งเร้าที่มีลักษณะคล้าย
ๆ กัน และจะตอบสนองเหมือน ๆ กัน
(เมื่อสุนัขเรียนรู้โดยมีเสียงกระดิ่งเป็นเงื่อนไขแล้ว
ถ้าใช้เสียงนกหวีดหรือระฆังที่คล้ายเสียงกระดิ่งแทนเสียงกระดิ่ง
สุนัขก็จะมีน้ำลายไหล)
๖.
บุคคลมีแนวโน้มที่จะจำแนกลักษณะของสิ่งเร้าให้แตกต่างกันและเลือกตอบสนองได้ถูกต้อง
(เมื่อใช้เสียงกระดิ่ง เสียงฉิ่ง เสียงประทัด หรือเสียงอื่นเป็นสิ่งเร้า
แต่ให้อาหารสุนัขพร้อมกับเสียงกระดิ่งเท่านั้น
สุนัขจะน้ำลายไหลเมื่อได้ยินเสียงกระดิ่ง ส่วนเสียงอื่น ๆ
จะไม่ทำให้สุนัขน้ำลายไหล)
๗. กฎแห่งการลดภาวะ (Law
of Extinction) คือ ความเข้มของการตอบสนองจะลดลงเรื่อย ๆ
หากบุคคลได้รับแต่สิ่งเร้าที่วางเงื่อนไขอย่างเดียว
หรือความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้าที่วางเงื่อนไขกับสิ่งเร้าที่ไม่สางเงื่อนไขห่างกันออกไปมากขึ้น
๘.
กฎแห่งการฟื้นคืนสภาพเดิมตามสภาพเดิมตามธรรมชาติ (Law of Spontaneous Recovery) คือ การตอบสนองที่เกิดจากการวางเงื่อนไขที่ลดลง สามารถเกิดขึ้นได้อีก
โดยไม่ต้องใช้สิ่งเร้าที่ไม่วางเงื่อนไขมาเข้าคู่
๙.
กฎแห่งการถ่ายโยงการเรียนรู้สู่สถานการณ์อื่น ๆ (Law of Generalization) คือ เมื่อเกิดการเรียนรู้จากการเรียนรู้จากการวางเงื่อนไขแล้ว
หากมีสิ่งเร้าคล้าย ๆ กับสิ่งเร้าที่วางเงื่อนไขมากระตุ้น
อาจทำให้เกิดการตอบสนองที่เหมือนกันได้
๑๐.
กฎแห่งการจำแนกความแตกต่าง (Law of Discrimination) คือ
หากมีการใช้สิ่งเร้าที่วางเงื่อนไขหลายแบบ
แต่มีการใช้สิ่งเร้าที่ไม่วางเงื่อนไขเข้าคู่กับสิ่งเร้าที่ส่งเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น
ก็สามารถช่วยให้เกิดการเรียนรู้ได้โดยสามารถแยกความแตกต่างและเลือกตอบสนองเฉพาะสิ่งเร้าที่วางเงื่อนไขเท่านั้นได้
(ทิศนา แขมมณี, ๒๕๕๒: สุรางค์
โค้วตระกูล, ๒๕๕๓: ศิริบูรณ์ สายโกสุม,
๒๕๕๕: อุบลรัตน์ เพ็งสถิตย์, ๒๕๕๖)
การประยุกต์ทฤษฎีการเรียนรู้การวางเงื่อนไข
(Conditioning
stimulus) ของ
พาฟลอฟ (Ivan Pavloy) สู่การจัดการเรียนการสอน
๑.
การนำความต้องการทางธรรมชาติของผู้เรียนมาใช้เป็นสิ่งเร้าสามารถช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี
๒. การจะสอนให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ในเรื่องใด
อาจใช้วิธีเสนอสิ่งที่จะสอนไปพร้อม ๆ กับสิ่งเร้าที่ผู้เรียนชอบตามธรรมชาติ
๓.
การนำเรื่องที่เคยสอนไปแล้วมาสอนใหม่สามารถช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ตามที่ต้องการได้
๔.
การจัดกิจกรรมการเรียนให้ต่อเรื่องและมีลักษณะคล้ายคลึงกันสามารถช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น
เพราะมีการถ่ายโยงประสบการณ์เดิมกับประสบการณ์ใหม่
๕.
การเสนอสิ่งเร้าให้ชัดเจนในการสอน
จะสามารถช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และตอบสนองได้ชัดเจนขึ้น
๑.๒
การวางเงื่อนไขการกระทำ (Operant Conditioning) ของบีเอฟ
สกินเนอร์ (B.F.Skiner)
สกินเนอร์ได้ทำการทดลองกับสัตว์ในห้องทดลอง
คือ หนูขาวโดยที่หนูจะวิ่งไปมา ปีนป่ายโน่นนี่
จนที่สุดหนูขาวจะแตะถูกลิ้นหรือคานในหีบทดลอง ผลคือทำให้หนูขาวได้รับอาหารและเมื่อเกิดพฤติกรรมแบบนี้หลาย
ๆ ครั้ง ทำให้หนูขาวใช้ระยะเวลาในการตอบสนองน้อยลง
พฤติกรรมดังกล่าวถือว่าหนูขาวเกิดการเรียนรู้ว่าเมื่อต้องการอาหารจะต้องแตะคาน
ทฤษฎีการเรียนรู้การวางเงื่อนไขการกระทำ
(Operant
Conditioning) ของบีเอฟ สกินเนอร์ (B.F.Skiner) คือ
๑.
การกระทำใด ๆ ถ้าได้รับการเสริมแรงจะมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นอีก
ส่วนการกระทำที่ไม่มีการเสริมแรง
แนวโน้มที่ความถี่ของการกระทำนั้นจะลดลงและหายไปในที่สุด
๒.
การเสริมแรงที่แปรเปลี่ยนทำให้การตอบสนองคงทนกว่าการเสริมแรงที่ตายตัว
๓.
การลงโทษทำให้ผู้เรียนรู้ได้เร็วและลืมเร็ว
๔.
การให้แรงเสริมหรือให้รางวัลเมื่ออินทรีย์กระทำพฤติกรรมที่ต้องการ
สามารถช่วยปรับหรือปลูกฝังนิสัยที่ต้องการได้ จึงได้แบ่งการให้แรงเสริมออกเป็น ๒
ชนิด คือ
๔.๑
การให้แรงเสริมทุกครั้ง คือ ให้แรงเสริมแก่อนิทรีย์ที่แสดงพฤติกรรมที่กำหนดไว้ทุกครั้ง
๔.๒
การให้แรงเสริมเป็นครั้งคราว คือ
ไม่ต้องให้แรงเสริมทุกครั้งที่อนิทรีย์แสดงพฤติกรรม
การประยุกต์ทฤษฎีการเรียนรู้การวางเงื่อนไขการกระทำ
(Operant
Conditioning) ของบีเอฟ สกินเนอร์ (B.F.Skiner) สู่การจัดการเรียนการสอน
๑.
ครูจะต้องทราบว่าพฤติกรรมของนักเรียนที่แสดงว่านักเรียนเรียนรู้แล้วมีอะไรบ้าง
และให้แรงเสริมพฤติกรรมนั้น ๆ
๒. ตอนแรก ๆ
ครูควรจะให้แรงเสริมทุกครั้งที่นักเรียนแสดพฤติกรรมที่พึงปรารถนาแต่ตอนหลังใช้แรงเสริมเป็นครั้งคราวได้
๓.
ถ้าจำเป็นสำหรับนักเรียนบางคนในการเปลี่ยนพฤติกรรม
ครูอาจจะใช้แรงเสริมที่เป็นขนมหรือรางวัลที่เป็นสิ่งของหรือสิ่งที่จะเอาไปแลกเป็นของรางวัลได้
๔.
ครูจะต้องระวังไม่ให้แรงเสริมเมื่อนักเรียนแสดงพฤติกรรมไม่พึงปรารถนา
๕.
สำหรับพฤติกรรมที่ซับซ้อนหรือการเรียนร้ที่ซับซ้อน ครูควรจะใช้หลักการดัดพฤติกรรม
คือ
ให้แรงเสริมกับพฤติกรรมที่นักเรียนทำได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ตามลำดับ
๖. ค่อย ๆ
ลดสัญญาณบอกแนะหรือการชี้แนะลงเมื่อเริ่มเห็นวว่าไม่จำเป็น
๗. ค่อย ๆ
ลดแรงเสริมแบบให้ทุกครั้งลงเมื่อเห็นว่าผู้เรียนกระทำได้แล้ว
และผู้เรียนเริ่มแสดงว่ามีความพึงพอใจซึ่งเป็นแรงเสริมด้วยตนเองจากการทำงานนั้นได้
(สุรางค์
โค้วตระกูล,
๒๕๕๓, หน้า ๑๙๓-๑๙๔)
๑.๓
การเชื่อมโยงของธอร์นไดร์ส (Thorndike)
Thorndike เป็นนักจิตวิทยาในกลุ่มพฤติกรรมนิยมที่เชื่อว่า การเรียนรู้เกิดจาก การเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนอง
ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากการลองผิดลองถูก
ทฤษฎีการเรียนรู้การเชื่อมโยงของธอร์นไดร์ส
(Thorndike)
มีดังนี้
๑. กฎแห่งความพร้อม
(Law
of Readiness) คือ การเรียนรู้จะเกิดได้ดีถ้าผู้เรียนมีความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจ
๒.
กฎแห่งการฝึกหัด (Law
of Exercise) คือ การฝึกหัดหรือการกระทำบ่อย ๆ
ด้วยความเข้าใจจะทำให้การเรียนรู้นั้นคงทนถาวร ถ้าไม่ได้กระทำซ้ำบ่อย ๆ
การเรียนรู้นั้นจะไม่คงทนถาวรและในที่สุดจะลืมได้
๓.
กฎแห่งการใช้ (Law
of Use and Disuse) คือ การเรียรู้จากการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนอง
ความมั่นคงของการเรียนรู้จะเกิดขึ้น หากได้มีการนำไปใช้บ่อย ๆ และหากไม่มีกรนำไปใช้อาจมีการลืมเกิดขึ้นได้
๔.
กฎแห่งผลที่พึงพอใจ (Law
of Effect) คือ
เมื่อบุคคลได้รับผลที่พึงพอใจย่อมอยากจะเรียนรู้ต่อไป แต่ถ้าได้รับผลที่ไม่พึงพอใจ
จะไม่อยากเรียนรุ้ ดังนั้นการได้รับผลที่พึงพอใจจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการเรียนรู้
การประยุกต์ทฤษฎีการเรียนรู้การเชื่อมโยงของธอร์นไดร์ส
(Thorndike)
สู่การจัดการเรียนการสอนทำได้ดังนี้
๑.
การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนแบบลองผิดลองถูกบ้างจะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ในวิธีการแก้ปัญหา
จดจำการเรียนรู้ได้ดี และเกิดความภาคภูมิใจในการกระทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง
๒.
การสำรวจความพร้อมหรือการสร้างความพร้อมของผู้เรียนเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องกระทำก่อนการสอนบทเรียน
เช่น การสร้างบรรยากาศในการเรียนเพื่อให้ผู้เรียนเกิดความอยากรู้อยากเห็น
การเชื่อมโยงความรู้เดิมกับความรู้ใหม่ การสำรวจความรู้ใหม่การสำรวจความรู้พื้นฐาน
เพื่อดูว่าผู้เรียนมีความพร้อมที่จะเรียนบทเรียนต่อไปหรือไม่อย่างไร
๓. หากต้องการให้ผู้เรียนมีทักษะในเรื่องใดจะต้องช่วยให้เขาเกิดความเข้าใจในเรื่องนั้นอย่างแท้จริง
แล้วให้ฝึกฝนโดยการกระทำสิ่งนั้นบ่อย ๆ แต่ควรระวังอย่าให้ถึงกับซ้ำซาก
จะทำให้ผู้เรียนเกิดความเบื่อหน่าย
๔.
เมื่อผู้เรียนเกิดการเรียนรู้แล้วควรให้ผู้เรียนฝึกนการเรียนรู้ไปใช้บ่อย ๆ
๕.
การให้ผู้เรียนได้รับผลที่ตนพึงพอใจ จะช่วยให้การเรียนการสอนประสบสำเร็จ การศึกษาว่าสิ่งใดเป็นสิ่งเร้าหรือรางวัลที่ผู้เรียนพึงพอใจจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้
(ทิศนา แขมมณี, ๒๕๕๒, หน้า ๕๑-๕๒)
กล่าวโดยสรุป
ทฤษฎีกลุ่มพฤติกรรมนิยมสนใจพฤติกรรมของนักเรียนเมื่อได้รับสิ่งเร้าจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในด้านที่ดีขึ้น
ครูจะต้องหาสิ่งเร้าที่มากระตุ้นให้นักเรียนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในด้านการเรียนไปในทางที่ดี
๒. ทฤษฎีการเรียนรู้ปัญญานิยม
(Cognitivism)
ทฤษฎีการเรียนรู้ปัญญานิยม
(Cognitivism) มีแนวคิดที่เชื่อว่า การเรียนรู้เป็นกระบวนการทางความคิดที่เกิดจากการสะสมข้อมูล
การสร้างความหมาย
และความสัมพันธ์ของข้อมูลและการดึงข้อมูลออกมาใช้ในการกระทำและการแก้ปัญหาต่าง ๆ
ซึ่งเกิดจากกระบวนการภายในของสมอง
นักจิตวิทยาในกลุ่มปัญญานิยมนี้ได้เสนอหลักการเรียนรู้ซึ่งจะนำมาใช้ในการเรียนการสอน ได้แก่ เกสตัสท์ (Gestalt
Theory), บรูเนอร์ (Bruner) และออซูเบล (Ausubel)
๒.๑
ทฤษฎีการเรียนรู้ของเกสตัสท์ (Gestalt Theory)
เกสตัสท์ (Gestalt) เป็นนักจิตวิทยากลุ่มปัญญานิยมที่เชื่อว่า
การเรียนรู้เกิดขึ้นจากการนำสิ่งเร้าต่าง ๆ มารวมกัน เริ่มต้นด้วยการรับรู้โดยส่วนรวมก่อน
แล้วจึงจะสามารถเรียนรู้ส่วนย่อยทีละส่วนต่อไป
ดังนั้นการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีนี้จึงเน้นกระบวนการคิดโดยเสนอภาพรวมก่อนเสนอส่วนย่อย
ทฤษฎีการเรียนรู้ของเกสตัสท์
(Gestalt
Theory) มีหลักการดังนี้
๑. การรับรู้ (perception)
การรับรู้เป็นกระบวนการที่คนเราใช้ประสาทสัมผัสรับสิ่งเร้าแล้วถ่ายโอนเข้าสู่สมอง
เพื่อนำไปสู่กระบวนการคิด
สมองหรือจิตจะใช้ประสบการณ์เดิมตีความหมายของสิ่งเร้านั้น ๆ
๒. การหยั่งเห็น (insight) เป็นการค้นพบหรือการเกิดความเข้าใจในการเรียนรู้หรือการแก้ปัญหาอย่างฉับพลันทันที
อันเนื่องมาจากการใช้กระบวนการคิดในการพิจารณาปัญหาโดยส่วนรวม กล่าวคือ
มองเห็นขั้นตอน กระบวนการ และความสัมพันธ์ของเหตุการณ์ในการแก้ปัญหา
ปัจจัยสำคัญของการเรียนรู้แบบหยั่งเห็นคือประสบการณ์
การประยุกต์ทฤษฎีการเรียนรู้ของเกสตัสท์
(Gestalt
Theory) สู่การจัดการเรียนการสอนทำได้ดังนี้
๑. ให้ผู้เรียนมองเห็นโครงสร้างทั้งหมดของเรื่องที่จะสอนก่อน
เพื่อให้เข้าใจภาพรวมก่อนจึงเรียนเรื่องย่อย ๆ
๒.
ให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ที่หลากหลาย
เพราะจะช่วยให้สามารถคิดแก้ปัญหาและคิดริเริ่มได้มากขึ้น
๓. เน้นให้ผู้เรียนเรียนด้วยความเข้าใจมากกว่าการเรียนแบบท่องจำ
การเรียนด้วยความเข้าใจต้องอาศัยสื่อที่ชัดเจนประกอบ ต้องเรียนด้วยการปฏิบัติจริง
หรือผู้เรียนได้ลงมือกระทำเอง
๔.
เน้นความหมายที่ได้มาจากบริบทที่แสดงถึงความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ
๕.
ฝึกให้ผู้เรียนสามารถโยงความสัมพันธ์ระหว่างความรู้ที่เรียนไปลแวกับความรู้ใหม่ว่ามีความแตกต่างและคล้ายคลึงกันอย่างไรเพื่อช่วยให้จำได้นาน
๖.
มีการสรุปในการสอนเพื่อให้ผู้เรียนได้มองเห็นภาพรวมของเรื่องที่เรียน
(อารี พันธ์มณี, ๒๕๔๖: ทิศนา แขมมณี, ๒๕๕๒: สุรางค์
โค้วตระกูล, ๒๕๕๓)
๒.๒ ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของบรูเนอร์ (Bruner)
บรูเนอร์ (Bruner)
เป็นนักจิตวิทยาที่สนใจและศึกษาเรื่องจิตวิทยาการเรียนรู้แบะพัฒนาการทางสติปัญญา
โดยเชื่อว่ามนุษย์จะรับรู้สิ่งที่ตนเองสนใจและการเรียนรู้เกิดจากการค้นพบด้วยตนเอง
(discovery learning)
ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของบรูเนอร์ (Bruner) มีหลักการดังนี้
บรูเนอร์ได้แบ่งพัฒนาการทางสติปัญญาของมนุษย์ไว้
๓ ขั้นดังนี้
๑. ขั้นการเรียนรู้จากการกระทำ (Enactive
Stage) คือ ขั้นของการเรียนรู้จาก
การใช้ประสาทสัมผัสรับรู้สิ่งต่าง ๆ การลงมือกระทำช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้ดี
๒.
ขั้นการเรียนรู้จากการคิด (Iconic
Stage) เป็นขั้นที่เด็กสามารถสร้างมโนภาพในใจได้
และสามารถเรียนรู้จากภาพแทนของจริงได้
๓.
ขั้นการเรียนรู้จากสัญลักษณ์และนามธรรม (Symbolic Stage) เป็นขั้น การเรียนรู้สิ่งที่ซับซ้อนและเป็นนามธรรมได้
การประยุกต์ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของบรูเนอร์
(Bruner) ในการจัด การเรียนการสอนทำได้ดังนี้
๑.
ต้องจัดหลักสูตรและกิจกรรมการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับพัฒนาการทางสติปัญญาและระดับความพร้อมของผู้เรียน
๒.
การจัดเนื้อหาและวิธีการจะต้องคำนึงถึงพัฒนาการและประสบการณ์ของผ้ะเรียน
ต้องปรับเนื้อหาให้สอดคล้องกับความสามารถในการคิดหรือการรับรู้
และสอดคล้องกับสภาพจริงของผู้เรียน
๓.
เนื้อหาวิชาต้องมีความต่อเนื่องกัน
มีความลึกซึ้งและซับซ้อนตามระดับและความสามารถของผู้เรียน
๔.
ต้องเชื่อมโยงความรู้เดิมกับความรู้ใหม่เสมอ
๕.
ใช้ภาษาและวิธีการที่เหมาะสมสอดคล้องกับวัยและพัฒนาการของผู้เรียน
๖.
ให้ผู้เรียนทำงานเป็นกลุ่มตามความเหมาะสม
๗.
การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต้องให้ผู้เรียนได้คิดอย่างอิสระพร้อมเหตุผลเพทาอช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียน
๘.
ผู้เรียนจะต้องมีพัฒนาการทางความรู้ความเข้าใจได้ดีเพียงใดขึ้นอยู่กับแรงใจและบรรยากาศการเรียนรู้
๙.
ต้องสอนให้ผู้เรียนมีมโนทัศน์ (Concept) รู้จักกฎและหลักการพร้อมเหตุผลโดยเฉพาะในเรื่องที่เป็นนามธรรม
๑๐. สอนให้ผู้เรียนมีกระบวนการค้นพบด้วยตนเอง
(discovery
learning) คือ อยากรู้อยากเห็น และค้นพบด้วยการกระทำของตนเอง
๒.๓ ทฤษฎีการเรียนรู้อย่างมีความหมายของออซูเบล
(Ausubel)
ออซูเบล (Ausubel) เป็นนักจิตวิทยากลุ่มปัญญานิยมที่เชื่อว่า
การเรียนรู้เกิดขึ้นเมื่อผู้เรียนได้รวมหรือเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนรู้ใหม่ซึ่งอาจจะเป็นความคิดรวบยอดหรือความรู้ที่ได้รับใหม่ในโครงสร้างทางสติปัญญากับความรู้เดิมที่อยู่ในสมองของผู้เรียนอยู่แล้ว
ทฤษฎีการเรียนรู้อย่างมีความหมายของออซูเบล
(Ausubel) มีดังนี้
๑. การเรียนรู้โดยการรับอย่างมีความหมาย
๒.
การเรียนรู้โดยการรับแบบท่องจำหรือแบบนกแก้วนกขุนทอง
๓.
การเรียนรู้โดยการค้นพบอย่างมีความหมาย
๔.
การเรียนรู้โดยการค้นพบแบบท่องจำโดยไม่คิด แบบนกแก้วนกขุนทอง
การประยุกต์ทฤษฎีการเรียนรู้อย่างมีความหมายของออซูเบล(Ausubel) ทำได้ดังนี้
๑. การเรียนรู้เกิดขึ้นจากสิ่ง คือ
สิ่งจะต้องเรียนรู้จะต้องมีความหมาย
มีความสัมพันธ์กับสิ่งที่เคยเรียนรู้มาก่อนหรือเก็บไว้ในดครงสร้างของปัญญา
๒.
ผู้เรียนจะต้องมีประสบการณ์และมีความคิดที่จะเชื่อมโยงหรือจัดกลุ่มสิ่งที่เรียนใหม่ให้สัมพันธ์กับความรู้หรือสิ่งที่เรียนรู้เก่า
๓.
ความตั้งใจของผู้เรียนและการที่ผู้เรียนมีความรู้ความคิดที่จะเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนรู้ใหม่ให้มีความสัมพันธ์กับโครงสร้างทางปัญญาที่อยู่ในความทรงจำแล้ว
(อารี พันธ์มณี, ๒๕๔๖: ทิศนา แขมมณี, ๒๕๕๒: สุรางค์
โค้วตระกูล, ๒๕๕๓)
๓. ทฤษฎีการเรียนรู้มนุษยนิยม (Humanism)
นักจิตวิทยากลุ่มนี้ให้ความสำคัญของความเป็นมนุษย์
และมองมนุษย์มีคุณค่า มีความดีงาม มีความสามารถ มีความต้องการ
และมีแรงจูงใจภายในที่จะพัฒนาศักยภาพของตน หากบุคคลได้รับอิสรภาพและเสรีภาพ มนุษย์จะพยายามพัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์นักจิตวิทยาในกลุ่มมนุษยนิยมนี้ได้เสนอหลักการเรียนรู้ซึ่งจะนำมาใช้ในการเรียนการสอน ได้แก่ มาสโลว์ (Maslow), โรเจอร์ (Rogers) และโคมส์ (Combs)
๓.๑ ทฤษฎีการเรียนรู้ของมาสโลว์
(Maslow)
ความต้องการของมนุษย์จะเป็นตัวกระตุ้นให้มนุษย์แสดงพฤติกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการนั้น
ๆ มาสโลว์จึงได้จัดลำดับขั้นของความต้องการมนุษย์โดยเรียงลำดับความต้องการน้อยสุดไปหาสูงสุด
ดังนี้
ภาพที่ ๑
พีรมิตแสดงความต้องการพื้นฐาน ๕ ระดับตามทฤษฎีการเรียนรู้ของมาสโลว์ (Maslow)
๑.
ความต้องการทางด้านร่างกาย (physical need) เป็นความต้องการเพื่อการอยู่รอดของมนุษย์
คือ ความต้องการปัจจัยสี่ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต
ถ้าความต้องการนี้ไม่ได้รับการตอบสนอง ร่างกายของมนุษย์ก็ไม่สามารถทำงานได้
๒.
ความต้องการด้านความมั่นคงปลอดภัย (safety need) เป็นความต้องการ ความมั่นคงปลอดภัยส่วนบุคคลทั้งทางร่างกายและจิตใจ
ความมั่นคงปลอดภัยทางการเงิน ความมั่นคงปลอดภัยทางความเป็นอยู่
และระบบประกันช่วยชีวิตในกรณีของอุบัติเหตุหรือการเจ็บป่วย
๓. ความต้องการด้านความรัก
(love
need) เป็นความต้องการที่จะรู้สึกเป็นเจ้าของและเป็นที่ยอมรับในสังคม
ต้องการเป็นที่รักของผู้อื่นและการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
๔.
ความต้องการด้านการยอมรับ (esteem
need) เป็นความต้องการที่จะได้รับ การยอมรับนับถือจากคนในสังคมและเห็นคุณค่าของตนเอง
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน การทำงาน หรือกิจกรรมต่าง ๆ ในสังคม
เพื่อต้องการการยอมรับจากสังคมว่ามีความสามารถ มีคุณค่าและมีเกียรติ
๕.
ความต้องการด้านการที่จะพัฒนาศักยภาพของตนเอง (self - actualization) เป็นความต้องการการปรารถนาที่จะเป็นมากกว่าที่เป็นอยู่
มีความปรารถนาที่จะเป็นทุก ๆ อย่างที่จะสามารถทำได้ คือ
ความต้องการที่จะพัฒนาตนเองให้เต็มตามศักยภาพของตนเอง
เพื่อให้มีชีวิตที่ดีและความมั่นคงในความเป็นอยู่
การประยุกต์ทฤษฎีการเรียนรู้ของมาสโลว์
(Maslow) ในการจัดการเรียนการสอนทำได้ดังนี้
๑.
การเข้าใจถึงความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ สามารถช่วยให้เข้าใจพฤติกรรมของบุคคลได้
เนื่องจากพฤติกรรมเป็นการสแดงออกของความต้องการของบุคคล
๒.
การที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี
จำเป็นต้องตอบสนองความต้องการพื้นฐานที่เขาต้องการเสียก่อน
๓. ในกระบวนการเรียนการสอน
หากครูสามารถหาได้ว่าผู้เรียนแต่ละคนมี
ความต้องการอยู่ในระดับใดขั้นใด
ครูสามารถใช้ความต้องการพื้นฐานของผู้เรียนนั้นเป็นแรงจูงใจ
ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้
๔.
การช่วยให้ผู้เรียนได้รับการตอบสนองความต้องการพื้นฐานของตนอย่างพอเพียง
การให้อิสรภาพและเสรีภาพแก่ผู้เรียนในการเรียนรู้
การจัดบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้จะช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดประสบการณ์ในการรู้จักตนเองตรงตามสภาพความเป็นจริง
๔. ทฤษฎีการเรียนรู้สรรค์สร้างนิยม (Constructivism)
นักจิตวิทยากลุ่มสรรค์สร้างนิยม
(Constructivism)
เพียเจย์
และวิก็อตสกี้ เป็นนักจิตวิทยาในกลุ่มสรรค์สร้างนิยมที่มีความเชื่อว่า
ในการเรียนรู้ผู้เรียนจะต้องเป็นผู้กระทำ (action) และสร้างความรู้
ทฤษฎีการเรียนรู้สร้างสรรค์มีหลักการดังนี้
๑.
ผู้เรียนจะสร้างความเข้าใจในสิ่งที่เรียนรู้ด้วยตนเอง
๒.
การเรียนรู้สิ่งใหม่กับความรู้เดิมและความเข้าใจที่มีอยู่ในปัจจุบัน
๓.
การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมมีความสำคัญต่อการเรียนรู้
๔.
การจัดสิ่งแวดล้อม กิจกรรมที่คล้ายคลึงกับชีวิตจริง
ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมาย
การประยุกต์ทฤษฎีการเรียนรู้การสร้างความรู้ด้วยตนเอง
(Constructivism)
ในการจัดการเรียนการสอนทำได้ดังนี้
๑.การเรียนรู้จะมุ่งเน้นไปที่กระบวนการสร้างองค์ความรู้และการตระหนักในกระบวนการนั้น
ดังนั้นเป้าหมายการเรียนรู้จะต้องมาจากการปฏิบัติงานจริง
๒.เป้าหมายของการสอนจะเปลี่ยนจากการถ่ายทอดให้ผู้เรียนได้รับสาระความรู้ที่แน่นอนตายตัว
ไปสู่การสาธิตกระบวนการแปลและสร้างความหมายที่หลากหลาย การเรียนรู้ทักษะต่าง ๆ
จะต้องให้มีประสิทธิภาพถึงขั้นทำได้และแก้ปัญหาจริงได้
๓. ในการเรียนการสอนผู้เรียนจะเป็นผู้มีบทบาทในการเรียนรู้อย่างตื่นตัว
ผู้เรียนจะต้องเป็นผู้จัดกระทำกับข้อมูลหรือประสบการณ์ต่าง ๆ
และจะต้องสร้างความหมายให้กับสิ่งนั้นด้วยตนเอง โดยการให้ผู้เรียนอยู่ในบริบทจริง
๔.
ส่งเสริมให้ผู้เรียนทำงานร่วมกัน
เรียนรู้ด้วยกัน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างทั่วถึง
ให้พูดคุยกันทั้งกับผู้สอนและกับผู้เรียนอื่น ๆ
คอยสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนและบรรยากาศการเรียนรู้
คือผู้เรียนยอมรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน
ไม่ถือว่าความคิดของตนเองถูกต้องเสมอ
๕.
พยายามให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ต้องอดทนและปล่อยให้นักเรียนทำกิจกรรมด้วยตนเอง
อย่าบอกคำตอบก่อน ครูต้องลดบทบาทตัวเองลง
พูดในสิ่งที่จำเป็นและที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของนักเรียน
กล่าวโดยสรุป
ทฤษฎีการเรียนรู้ทำให้วิเคราะห์ความแตกต่างของผู้เรียน และจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการและความสนใจของผู้เรียนได้ดังนั้นการศึกษา
และวิเคราะห์ทฤษฎีการเรียนรู้จะช่วยพัฒนาหลักสูตรเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการความสนใจ และพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี
๘. พัฒนาการด้านสังคม: จากแนวคิดพื้นฐานสู่แนวคิดมาตรฐานสากล
หลักสูตรเป็นเสมือนเครื่องมือที่ใช้ในการสร้างคนให้อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข
สังคมแห่งการเรียนจะออกแบบให้ผู้เรียนได้รับความรู้อะไรบ้างที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนและสังคม
หลักสูตรจึงเป็นเครื่องมือในการพัฒนาผู้เรียนให้สามารถเรียนรู้สภาพสังคมปัจจุบันและสังคมอนาคต
การพัฒนาหลักสูตรจำเป็นต้องศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานด้านสังคมโดยเฉพาะแนวคิดของพัฒนาการทางสังคมทั้ง
๔ ยุค ได้แก่
ยุคสังคมเกษตรกรรม
เป็นยุคที่มนุษย์ไม่ใช้สิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ จะใช้เฉพาะสิ่งที่ตัวเองประดิษฐ์ขึ้น
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มนุษย์ประสบความสำเร็จของสังคมในยุคนี้ คือ ได้รู้จักการค้นพบการทำเกษตรกรรม
รู้จักการเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นพื้นฐานด้านเศรษฐกิจของตนเอง
การลงแรงสร้างเกษตรกรรมขึ้นด้วยตนเอง มากกว่าที่จะออกไปหาสิ่งเหล่านั้น
จึงทำให้การทำเกษตรกรรมจึงทำให้ผลผลิตสูงที่พอจะเลี้ยงประชากรทั่วประเทศ
กล่าวโดยสรุปสังคมยุคเกษตรกรรมเป็นสังคมแห่งการสร้างสรรค์ด้วยตนเอง
รู้จักการทำสิ่งต่าง ๆ
ยุคสังคมอุตสาหกรรม
เป็นยุคที่มนุษย์ได้เริ่มการนำเอาเครื่องจักรต่าง ๆ มาใช้ใน การประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ
หรือใช้ในการงานเกษตรกรรมมากขึ้น
ทำให้แรงงานในภาคเกษตรกรรมหลั่งไหลเข้ามาสู่แรงงานอุตสาหกรรม
เกิดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน เพราะเกิดจากการที่มนุษย์ได้ค้นพบองค์ความรู้ใหม่
ๆ และใช้ในการคิดค้นประดิษฐ์นวัตกรรมและโทคโนโลยีเพื่อนำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรม เช่น
การผลิตสิ่งต่าง ๆ รวมไปถึงเกิดแนวคิดทุนนิยมและสังคมนิยม กล่าวโดยสรุปสังคมยุคอุตสาหกรรมเป็นสังคมแห่งการสร้างสรรค์ด้วยเครื่องมือ
เครื่องใช้ต่าง ๆ
รวมถึงเครื่องยนต์อันเกิดจากการคิดค้นของมนุษย์เพื่อนำมาใช้ในการประดิษฐ์สิ่งต่าง
ๆ ให้เกิดความรวดเร็ว สะดวกสบาย
ยุคสังคมข่าวสารและฐานข้อมูล
เป็นยุคที่มนุษย์ได้เริ่มใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศใน การสื่อสาร เช่น โทรศัพท์
อินเตอร์เน็ต เพื่อรับรู้ข้อมูลต่าง ๆ ในยุคโลกาภิวัตน์
ทำให้การรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ รวดเร็ว และสามารถสืบค้นหาข้อมูลจากฐานข้อมูลต่าง
ๆ ไม่ถูกปิดกั้น มนุษย์ในยุคนี้จะนิยมทำงานผ่านสื่อออนไลน์ อินเตอร์เน็ต
และสารสนเทศต่าง ๆ ทำให้การทำงานรวดเร็ว
กล่าวโดยสรุปยุคสังคมข่าวสารและฐานข้อมูลเป็นสังคมแห่งการรับรู้ข้อมูลผ่านระบบสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ
ทำให้รวดเร็วและสืบค้นอย่างหลากหลายและทั่วถึง
ยุคสังคมปัญญาประดิษฐ์
เป็นยุคที่มนุษย์มีความรู้เทียบเทียมสื่อเทคโนโลยี มีการผสมผสานระหว่างกระบวนการการคิดการกระทำ การให้เหตุผล การปรับตัว หรือการอนุมาน และการทำงานของสมองรวมทั้งศาสตร์สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ผนวกเข้าด้วยกันกลายเป็นองค์ความรู้ใหม่ เนื่องจากปัจจุบันวงการปัญญาประดิษฐ์
มีการพัฒนาส่วนใหญ่โดยนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ กล่าวโดยสรุปสังคมยุคปัญญาประดิษฐ์เป็นยุคของการสร้างสรรค์สิ่งต่างโดยการผสมผสานความรู้
กระบวนการคิด การกระทำการใช้เหตุผล รวมถึงวิทยาการคอมพิวเตอร์เพื่อสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบต่าง ๆ
กล่าวโดยสรุปแนวคิดการพัฒนาสังคมทั้ง
๔ ยุคช่วยทำให้เห็นพัฒนาการสภาพบริบทของสังคมไทย เพื่อเป็นพื้นฐานในการจัดทำหลักสูตรตอบสนองความต้องการของสังคม
และความเจริญก้าวหน้าและความเปลี่ยนแปลงในสู่ยุคศตวรรษที่ ๒๑
นอกจากพื้นฐานทางสังคมที่ได้กล่าวมาแล้วทำให้ทราบเฉพาะพัฒนาการทางแนวคิดของสังคมไทยทั่วไปเท่านั้น
แต่สิ่งสำคัญจะต้องคำนึงถึงการจัดการศึกษาสู่มาตรฐานสากล (World-Class Education) วิเวียน (Stewart, Vivien, 2012) ได้นำเสนอแนวคิดการจัดการศึกษามาตรฐานสากลไว้ในหนังสือ
“A World-Class Education: Learning from international models of
excellence and innovation” โดยนำเสนอไว้ในบทที่ ๕ “Modernizing
Curriculum, Instruction, and Assessment” สรุปแนวคิดได้ดังนี้
วัตถุประสงค์ของการพัฒนาความรู้และทักษะระดับสากล มีดังนี้ ๑)
มีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ๒)
มีแหล่งการเรียนรู้ที่ช่วยให้สามารถดำเนินชีวิตในสภาพการณ์ที่แตกต่างทางด้านวัฒนธรรม
๓) มีความรู้และทักษะที่จำเป็นในการพึ่งพาซึ่งกันและกันทั่วโลก ๔)
มีการขับเคลื่อนด้วยการใช้นวัตกรรมด้วยความคิดสร้างสรรค์และวิธีการที่จะเรียนรู้
นอกจากนี้ยังกล่าวถึง
การศึกษาจะต้องมีการพัฒนาความสามารถเพื่อดำรงไว้ในเรื่องดังต่อไปนี้ ๑)
เข้าใจพลวัตที่ซับซ้อนในระบบการดำเนินชีวิต ๒) เข้าใจทฤษฎีของเศรษฐกิจแบบยั่งยืน ๓)
รับรู้การพึ่งพาอาศัยกันและกันของสิ่งมีชีวิต ๔)
สามารถทำงานร่วมกันกับผู้อื่นที่มีลักษณะพื้นฐานที่แตกต่างกัน และกล่าวถึง
ทักษะของนักเรียนที่จะต้องเตรียมพร้อมและพัฒนาความรู้และทักษะระดับสากล คือ ๑)
การแข่งขัน (Compete) ๒) การติดต่อ (Connect) ๓) การร่วมมือ (Cooperate)
สิ่งจำเป็นที่จะต้องมีการจัดการเรียนรู้ระดับสากล
คือ
๑)
ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity)
๒)
การคิดระดับสูง (Higher-order
thinking)
๓)
ทักษะการจัดการด้วยตนเอง (Self
management skills)
และยังต้องมีการพัฒนาและทักษะระดับสากลสำหรับบริษัทข้ามชาติ
คือ ๑) การพัฒนาทักษะทางภาษา (Desirable Language) ๒)
การเรียนรู้ความแตกต่างทางวัฒนธรรม (Cross 3 cultural skills)
กล่าวโดยสรุป
พื้นฐานการพัฒนาหลักสูตรจำเป็นต้องศึกษาความรู้ทางสังคมเพื่อทำให้หลักสูตรสร้างผู้เรียนให้สอดคล้องกับสังคม
และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
๓.
การยืนยันความถูกต้องและการใช้ข้อมูลใหม่
วิสัยทัศน์ของหลักสูตร (Curriculum
Vision) “การเขียนเพื่อการสื่อสาร”
เพื่อพัฒนานักเรียนให้มีความรู้ความสามารถด้านการเขียน
ซึ่งเกิดจากทักษะกระบวนการสร้างสรรค์และนำเสนอผลงานอ่านสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ
โดยนำเสนอเนื้อหาในบริบทที่ต่างสังคมและวัฒนธรรมตลอดจนเชื่อมโยงความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพและเรียนรู้ตลอดชีวิต
รวมทั้งสร้างเจตคติต่อวิชา พัฒนาตนเองให้มีความรู้คู่คุณธรรมจริยธรรม
บรรณานุกรม
กระทรวงศึกษาธิการ. (๒๕๕๑). หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน
พุทธศักราช ๒๕๕๑. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชุมนุมการเกษตรแห่งประเทศไทย.
_______. (๒๕๕๑).
ตัวชี้วัดและสาระการเรียนรู้แกนกลาง กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย
หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชุมนุมการเกษตรแห่งประเทศไทย.
กาญจนา คุณารักษ์. (๒๕๕๓). พื้นฐานการพัฒนาหลักสูตร.
นครปฐม:
คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัย-ศิลปากร.
คณะกรรมาธิการนานาชาติว่าด้วยการศึกษาในศตวรรษที่
๒๑.
(๒๕๔๑). การเรียนรู้: ขุมทรัพย์ในตน. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ.
ฝ่ายวิชาการสูตรไพศาล. (๒๕๕๕). แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕-๒๕๕๙). กรุงเทพฯ: สูตรไพศาล.
พรรณี ชูทัย. (๒๕๒๘). จิตวิทยาการเรียนการสอน.
กรุงเทพฯ:
ภาควิชาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
พิมพ์พรรณ เทพสุเมธานนท์ และคณะ.
(๒๕๕๓). ปรัชญาการศึกษา. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
ไพฑูรย์ สินลารัตน์. (๒๕๕๖). ปรัชญาการศึกษาเบื้องต้น.
กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ทิศนา แขมมณี. (๒๕๕๔). ศาสตร์การสอน: องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ ที่ประสิทธิภาพ.
กรุงเทพฯ:
สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
นิรมล
ศตวุฒิ. (๒๕๕๕). การพัฒนาหลักสูตร. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
ศักดิ์ศรี ปาณะกุล และคณะ. (๒๕๕๖). หลักสูตรและการจัดการเรียนรู้.
กรุงเทพฯ:
มหาวิทยาลัย-รามคำแหง.
วิจารณ์ พานิช. (๒๕๕๕). วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่
๒๑. กรุงเทพฯ:
มูลนิธิสดศรี-
สฤษดิ์วงศ์.
______. (๒๕๕๖). การสร้างการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่
๒๑. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสยามกัมมาจล.
วิชัย วงษ์ใหญ่. (๒๕๕๔). นวัตกรรมหลักสูตรและการเรียนรู้สู่ความเป็นพลเมือง.
กรุงเทพฯ:
บริษัท อาร์ แอนด์ ปริ้นท์ จำกัด.
_______. (๒๕๕๔). การพัฒนาหลักสูตรระดับอุดมศึกษา.
กรุงเทพฯ: บริษัท อาร์ แอนด์ ปริ้นท์ จำกัด.
วิทย์ วิศทเวทย์. (๒๕๕๕). ปรัชญาการศึกษา.
กรุงเทพฯ:
โครงการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ คณะอักษรศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ศิริบูรณ์
สายโกสุม. (๒๕๕๕). จิตวิทยาการศึกษา. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
สุเทพ อ่วมเจิรญ. (๒๕๕๖). รายงานการวิจัย
การพัฒนาแบบจำลอง SU
Model: นวัตกรรมส่งเสริม การเรียนรู้วิศวกรรมหลักสูตร. ภาควิชาหลักสูตรและวิธีสอน คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.
_______. (๒๕๕๗).
การพัฒนาหลักสูตร : ทฤษฎีและการปฏิบัติ. นครปฐม: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร
วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม.
_______. (๒๕๕๗). การเรียนการสอน
: การออกแบบ นวัตกรรมและเทคโนโลยี. นครปฐม: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร
วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม.
สุรางค์
โค้วตระกูล. (๒๕๕๓). จิตวิทยาการศึกษา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
อารี
พันธ์มณี. (๒๕๔๖). จิตวิทยาสร้างสรรค์การเรียนการสอน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ใยไหม.
อุบลรัตน์
เพ็งสถิตย์. (๒๕๕๖). จิตวิทยาการเรียนรู้. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
Stewart, Vivien. (2012). A
world-class education: learning from international models of excellence and
innovation. The United States of America.
.......................................................................................
โดย : นายสง่า วงค์ไชย รหัสนักศึกษา 57255911
สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน (กลุ่มการสอนภาษาไทย)
หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต คณะศึกษาศาสตร์
มหาวิทยาลัยศิลปากร
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น